Follow Us  


Support:

Sponsorship and Management of the website is performed by Chaninat & Leeds a law firm composed of licensed Thailand Lawyers and international lawyers in Thailand.




 

 

ส่วนที่ ๔
ข้อห้ามในการให้สินเชื่อ

มาตรา ๔๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๙ ห้ามมิให้สถาบันการเงินไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(๑) ให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หรือประกันหนี้แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่การให้สินเชื่อในรูปของบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หรือการให้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๒) รับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ออกตั๋ว หรือผู้สลักหลัง
(๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งมิใช่บำเหน็จ เงินเดือน รางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ
(๔) ขาย ให้ หรือให้เช่าทรัพย์สินใด ๆ แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หรือรับซื้อ หรือเช่าทรัพย์สินใด ๆ จากบุคคลดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(๕) ให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
 
มาตรา ๔๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๙ ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ในแต่ละรายเกินร้อยละห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดของสถาบันการเงินนั้น หรือเกินร้อยละยี่สิบห้าของหนี้สินทั้งหมดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ ให้นับการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นด้วย
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราขั้นสูงในการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องให้สูงกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
การให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หมายความว่า บริษัทที่สถาบันการเงิน กรรมการของสถาบันการเงิน ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
 
มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่บุคคลหลายคนรวมกันในโครงการหนึ่งโครงการใด หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
การกำหนดตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเป็นจำนวนเงินหรืออัตราส่วนต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ก็ได้
ในกรณีที่สถาบันการเงินใด ควบรวมกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือจำหน่าย จ่ายโอนสินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือกรณีมีเหตุอันสมควรอื่นใด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจผ่อนผันให้สถาบันการเงินนั้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งเป็นการชั่วคราวได้
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัท จำนวนเงินที่ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ต้องไม่เกินอัตราส่วนกับทุน หรือเงินกองทุนของบริษัทนั้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่มีการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่นิติบุคคลใด ให้นับรวมการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วม เป็นของนิติบุคคลนั้นด้วย
ในกรณีที่มีการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลใด ให้นับรวมการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น เป็นของบุคคลนั้นด้วย
การให้สินเชื่อโดยรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้ทรงซึ่งขายตั๋วเงินและบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินทุกทอดด้วย เว้นแต่เป็นตั๋วเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่สถาบันการเงินใดได้รับการประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทอื่นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้ถือว่าสถาบันการเงินนั้นให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทผู้ประกันความเสี่ยงดังกล่าวตามวรรคหนึ่งด้วย
 
มาตรา ๕๑ ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจแต่ละประเภทเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนหรือสินทรัพย์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๒ มิให้นำความในมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนที่ได้รับการค้ำประกัน
(๒) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
(๓) ลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินราคาที่ตราไว้
(๔) ให้สินเชื่อโดยมีเงินฝากของสถาบันการเงินนั้น หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นประกัน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนเงินฝากที่เป็นประกันหรือราคาหลักทรัพย์ที่ตราไว้
(๕) ค้ำประกันการขายหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๖) ให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๗) ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าหลักทรัพย์รัฐบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๘) ออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการค้า

ส่วนที่ ๕
กลุ่มธุรกิจทางการเงิน

มาตรา ๕๓ กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ประกอบด้วยสถาบันการเงินและบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนธุรกิจทางการเงินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยสถาบันการเงินเป็นบริษัทแม่และมีบริษัทอื่นเป็นบริษัทลูกบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท หรือ
(๒) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยบริษัทแม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่มีสถาบันการเงินเป็นบริษัทลูก โดยจะมีบริษัทลูกเพียงบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทเป็นบริษัทร่วมก็ได้
 
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้จัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๕ ให้นำความในมาตรา ๑๖ ถึงมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับกับการถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นในบริษัทแม่ของสถาบันการเงิน โดยอนุโลม
ให้นำความในมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทแม่ของสถาบันการเงินและบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน โดยอนุโลม
มิให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับบริษัทแม่หรือบริษัทลูกของสถาบันการเงินในกรณีที่มีกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของบริษัทแม่หรือบริษัทลูกของสถาบันการเงินกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
 
มาตรา ๕๖ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะประกอบธุรกิจได้แต่เฉพาะธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดเท่านั้นแต่จะประกอบการค้าหรือธุรกิจอื่นมิได้
ในการประกอบธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจดังกล่าวไว้ด้วยก็ได้ เว้นแต่กฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้นจะได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
 
มาตรา ๕๗ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมของสถาบันการเงินนั้นในลักษณะเหมือนกับเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เว้นแต่กฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้นจะได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนหรือทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้นเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใด หรือกำหนดอัตราส่วนอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินเปิดเผยข้อมูลระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้สถาบันการเงินจัดตั้งหรือมีบริษัทลูก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใดให้สถาบันการเงินหรือบริษัทลูกต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ห้ามมิให้สถาบันการเงินซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทลูกโดยมีมูลค่าของหุ้นรวมกันทั้งสิ้นเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมดหรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๙ สถาบันการเงินอาจให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมกับบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมของสถาบันการเงินได้ แต่จะให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
การทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึง
(๑) การซื้อหรือขายสินทรัพย์ และรวมถึงสินทรัพย์ที่มีสัญญาซื้อคืนจากบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม
(๒) การรับหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมเป็นหลักประกันการให้สินเชื่อ หรือการออกหนังสือคํ้าประกัน หรือเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อบริษัทแม่ บริษัทลูกหรือบริษัทร่วม
(๓) การทำธุรกรรมใด ๆ ที่เป็นผลให้บริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมได้รับประโยชน์
การให้สินเชื่อหรือการทำธุรกรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม ให้ถือว่าเป็นการให้สินเชื่อหรือการทำธุรกรรมกับบริษัทดังกล่าวด้วย

ส่วนที่ ๖
การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง

มาตรา ๖๐ ให้สถาบันการเงินจัดชั้นสินทรัพย์และภาระผูกพันที่เสียหายหรืออาจเสียหายและให้ตัดออกจากบัญชีหรือกันเงินสำรองไว้สำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่ปรากฏว่า เมื่อนำสินทรัพย์จัดชั้นหรือภาระผูกพันในส่วนที่ยังมิได้ตัดออกจากบัญชีหรือกันเงินสำรองไว้มาหักออกจากเงินกองทุนแล้ว เงินกองทุนมีจำนวนต่ำกว่าที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา ๓๐ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สถาบันการเงินนั้นถือปฏิบัติจนกว่าจะได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง
หากหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มการตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีหรือเพิ่มการกันเงินสำรอง จะต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
 
มาตรา ๖๑ ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันอื่นที่ไม่เสียหายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้จะกำหนดอัตราเกินร้อยละห้าของสินทรัพย์และภาระผูกพันอื่นที่ไม่เสียหายมิได้
 
มาตรา ๖๒ ให้สถาบันการเงินระงับการรับรู้และยกเลิกรายการดอกเบี้ยค้างรับที่เคยรับรู้เป็นรายได้สำหรับสินทรัพย์ที่ถูกจัดชั้นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

Next Page
[1]  [2]  [3]  [4]  [5]  [6]  [7]  [8]  [9]

 

For any submissions, comments, or questions, e-mail the Thailand Law Forum at: info@thailawforum.com Please read our Disclaimer.

© Copyright Thailand Law Forum, All Rights Reserved
(except where the work is the individual works of the authors as noted)