มาตรา ๓๙ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และจะมีรองอธิการบดีคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
รองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับอธิการบดี และให้อธิการบดีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน
เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่งให้รองอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย
มาตรา ๔๐ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันแต่งตั้ง
มาตรา ๔๑ อธิการบดีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกหรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์ในการสอนหรือการบริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๒) ไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๓) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๔) ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) ไม่เคยถูกออกจากงานหรือราชการเพราะมีความผิด เว้นแต่รัฐมนตรีเห็นว่าความผิดนั้นไม่ขัดต่อการเป็นอธิการบดี
(๖) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๔๒ ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคน ให้รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมาย ให้รองอธิการบดีซึ่งมีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน
ในกรณีที่ไม่มีอธิการบดี หรือไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี
ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับอธิการบดีทุกประการ
มาตรา ๔๓ อธิการบดีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมทั้งนโยบายและมติของสภาสถาบัน
(๒) จัดให้มีระบบบริหารตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ โดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน
(๔) แต่งตั้งและถอดถอนอาจารย์ อาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๕) ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๖) จัดทำทะเบียนคณาจารย์ประจำ ผู้ช่วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
(๗) ควบคุมการเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และมติของสภาสถาบัน
(๘) เป็นผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในกิจการทั่วไป
(๙) จัดทำรายงานประจำปี งบการเงินประจำปี และรายงานอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๐) รักษาวินัยของนักศึกษา
(๑๑) ระมัดระวังมิให้มีการดำเนินการอันเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในบริเวณสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๑๒) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หน้าที่ที่สภาสถาบันมอบหมาย และหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๑๓) ดำเนินกิจการอื่นอันเป็นปกติธุระที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนพึงกระทำ
มาตรา ๔๔ เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้สภาสถาบันแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๔๕ คณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีตำแหน่งทางวิชาการดังต่อไปนี้
(๑) ศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์พิเศษ
(๒) รองศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์พิเศษ
(๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ
(๔) อาจารย์หรืออาจารย์พิเศษ
มาตรา ๔๖ คณาจารย์ประจำต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือมีความรู้ความชำนาญพิเศษในวิชาใดวิชาหนึ่ง
(๒) ไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(๓) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๔) ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๔๗ ศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษนั้นให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน
อาจารย์และอาจารย์พิเศษนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้ง
ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
มาตรา ๔๘ นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด
การพ้นจากตำแหน่งคณาจารย์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
มาตรา ๔๙ ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษและพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภาสถาบันอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้
คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษหรือแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ให้ผู้นั้นมีสิทธิใช้ชื่อศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ แล้วแต่กรณี เป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้
การใช้คำนำหน้านามตามวรรคหนึ่ง ถ้าใช้อักษรย่อให้ใช้ดังนี้
ศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ศ.
ศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ศ.(พิเศษ)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ.(เกียรติคุณ)
รองศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ รศ.
รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ.(พิเศษ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ผศ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ.(พิเศษ)
มาตรา ๕๑ เมื่ออธิการบดีแต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๔๕ (๒) (๓) และ (๔) ให้อธิการบดีแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันแต่งตั้ง
มาตรา ๕๒ บุคคลใดจะเป็นคณาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกินหนึ่งแห่งไม่ได้
มาตรา ๕๓ ในกรณีที่มีความจำเป็น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจมีผู้ช่วยอาจารย์ได้
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
หมวด ๔
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
มาตรา ๕๔ ปริญญามีสามชั้น คือ
ปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.
ปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.
ปริญญาตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.
สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะทำการสอนเพื่อให้ปริญญาชั้นใด และในสาขาวิชาใดได้เมื่อรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการได้รับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นแล้ว
การขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๕ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต ในสาขาวิชาที่มีการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้
การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะให้ใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไรให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๖ สภาสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจออกข้อบังคับกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองได้
มาตรา ๕๗ สภาสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตได้ดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา
(๒) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี หรือผู้ที่สอบไล่ได้ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรปริญญาตรี แต่ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดภายหลังที่ได้ปริญญาแล้ว
มาตรา ๕๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภาสถาบันเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้นๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่กรรมการสภาสถาบัน คณาจารย์ประจำ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ได้
ชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๙ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา และประกาศนียบัตรบัณฑิต และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งกรรมการสภาสถาบัน ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหารและครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้
การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยประจำตำแหน่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งจะใช้ในโอกาสใดโดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
Next Page
[1] [2] [3] [4] [5] [6] |