พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๔)
พ.ศ. ๒๕๖๒
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วนที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ การเรียกประกันและหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม ในปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ต้องมีประกันหรือหลักประกันไว้ต่อเจ้าพนักงาน หรือศาลจนเกินสมควร ควบคู่ไปกับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่สาธารณชนไม่ให้ได้รับอันตรายจาก ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่หลบหนี รวมทั้งป้องกันมิให้มีการฟ้องคดีอาญาโดยไม่สุจริตอันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๔) พ.ศ. ๒๕๖๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๑๐ ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน
และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๑๗ แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
“ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นบุคคลที่ศาลสั่งปล่อยชั่วคราว ศาลอาจ มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลดำเนินการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๖๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา
“มาตรา ๑๖๑/๑ ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้อง ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือ คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”
ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
บัญญัติเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้การปล่อยชั่วคราวในคดีที่มีอัตรา โทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไปต้องมีประกัน อาจจะเป็นภาระแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น สมควร ขยายอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเป็นสิบปีขึ้นไปเพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี โดยคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่ กรณีมิได้ ทั้งยังให้เจ้าพนักงานศาลมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวได้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นด้วย นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยในหลายกรณี หรือฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ ตามปกติธรรมดา อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องให้ศาลมีอำนาจยกฟ้อง ดังนั้น เพื่อให้ระบบการปล่อยชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดีอาญามีความเหมาะสมกับ สภาพสังคมในปัจจุบันและสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ